Powered By Blogger

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กล้วยหักมุก




[กล้วยหักมุก]
   
  มีชื่อพื้นบ้านว่า กล้วยใต้ กล้วยนาก กล้วยมณีอ่อง กล้วยส้ม เจก มะลิอ่อง ยะไข่
สะกุย แหลก และ กล้วยหักมุก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ซิลเวอร์ บลักโกว์ (Silver Bluggoe)
"กล้วยหักมุก" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มิวซ่าซาปิเอนตัม Musa sapientum Linn หรือ มิวซา เอบีบีกรู๊ปMusa (ABB group).จัดอยู่ในวงศ์ มิวซาซีอี้ (Musaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกล้วยหักมุก กล้วยหักมุกจะมีลำต้นสูงประมาณ 2.5 - 3.5 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำเล็กน้อย ด้านในมีสีเขียวอ่อน ลักษณะใบ ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ และมีครีบ เส้นกลางใบมีสีเขียว และมีนวลทางด้านล่าง ลักษณะดอก ช่อดอกไม่มีขน ปลีรูปไข่ค่อนข้างป้อม ม้วนงอขึ้น ด้านบน ปานมีนวลหนา ด้านล่างมีสีแดงเข้ม ลักษณะผล เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมี 10 - 16 ผล ผลของกล้วยหักมุก จะมีผลใหญ่ ก้านผลยาว ปลายผลลีบลง มีเหลี่ยมชัดเจน เปลือกหนา เมื่อสุกเปลือกผลจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล มีนวลหนา เนื้อผลของกล้วยหักมุกจะสีส้ม เมื่อนำผลกล้วยหักมุกไปปิ้งไฟจะมีกลิ่นหอมตลบอบอวลชวนรับประทานเป็นยิ่งนัก
สรรพคุณของกล้วยหักมุกและวิธีใช้ 
 (1.) กล้วยหักมุกมีสรรพคุณ โดยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุท้องเสีย กล้วยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียได้แก่ เอสเคอริเคีย โคไล (Escherichia coli)
 (2.) ในกล้วยจะมีสาร tannin ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้
 (3.) กล้วยหักมุกมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ เมื่อทดลองให้หนูขาวกิน aspirin แล้วกินผงกล้วยดิบ พบว่าป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะได้ เมื่อกินผงกล้วยดิบในขนาด 5 กรัม และรักษาแผลที่เป็นแล้วในขนาด 7 กรัม สารสกัดมีฤทธิ์เป็น 300 เท่า ของผงกล้วยดิบ โดยออกฤทธิ์สมานแผลและเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเมือก โดยเพิ่มเมือกและเร่งการแบ่งตัวของเซลล์ นอกจากนี้ยังมีผลต่อกระบวนการสร้างมาโครเซลล์ (macrophage cell) อันส่งผลไปถึงการรักษาแผลได้อีกด้วย
 (4.) สารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ คือสารที่เรียกว่า ไซโตอินโดไซด์ วัน, ทู, ทรี, โฟ และไฟว์ (sitoindoside I, II, III, IV, V) สารที่ออกฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านการเกิดแผลในหนูที่เป็นแผลในกระเพาะ คือ ไซโตอินโดไซด์โฟ (sitoindoside IV) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร
มีคำแนะนำในการใช้กล้วยรักษาอาการแน่นจุกเสียด ให้นำผลกล้วยดิบ หรืออาจใช้ผลกล้วยดิบที่ฝานบางๆแล้วตากแห้ง และบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ผงกล้วยนี้ในปริมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ใส่ในถ้วยแล้วนำน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสม ใช้รับประทานเพื่อรักษาอาการแน่น จุกเสียด หรือหากมีอาการท้องเสียก็ใช้ได้เช่นกัน

       วันนี้เวลาของรายการสาระความรู้ทางการเกษตรหมดลงอีกแล้วนะคะ คุณผู้ฟังจะติดตามรับฟังรายการ สาระความรู้ทางการเกษตรได้ใหม่ ณ สถานีวิทยุ มอ. เอฟเอ็ม แปดสิบแปด เม็กกะเฮิร์กซ์ ทุกวันจันทร์ เวลาประมาณสิบห้านาฬิกายี่สิบนาที หากคุณผู้ฟังต้องการได้รายละเอียดเกี่ยวกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ หรือมีปัญหาทางการเกษตรต้องการคำปรึกษา แนะนำ หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม แก่ทางรายการฯ ก็ตามนะคะ ขอเชิญติดต่อเข้ามาได้ค่ะ ทั้งทางจดหมายและโทรศัพท์ ทางจดหมายจ่าหน้าซองถึง คุณดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ หัวหน้างานฝึกอบรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รหัสไปรษณีย์ 90112 ส่วนทางโทรศัพท์กรุณาติดต่อมาที่หมายเลข 074 – 219-234 และหมายเลข 074 286-059-60 ได้ทุกวัน ในเวลาราชการนะคะ สำหรับวันนี้ดิฉันขอลาคุณผู้ฟังไปก่อน สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น