ในประเทศไทย
พบว่ามีอยู่ประมาณ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาว
กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง และกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้แดง
โดยกล้วยน้ำว้าในแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมแตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น กล้วยน้ำว้าไส้ขาว ที่รู้จักกันดีคือ “กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง” เป็นกล้วยน้ำว้าไส้ขาว
เมื่อนำไปทำ “กล้วยตาก” จะได้กล้วยตากที่สีเหลืองสวย
ไม่ดำคล้ำ หรือเอาไปทำกล้วยแผ่นอบ ก็จะมีสีเหลืองสวยพอดี ไม่เหลืองมาก
เหมือนกลุ่มกล้วยน้ำว้าเหลือง
ส่วนกล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้เหลือง เหมาะสำหรับการรับประทานผลสด
ทำกล้วยเชื่อม กล้วยทอด กล้วยบวชชี เป็นกล้วยที่เหมาะสำหรับการแปรรูป ทำขนม
ใช้งานได้หลากหลายที่สุด สุดท้ายคือ กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดง
เป็นกล้วยที่ติดผลค่อนข้างดก ไส้กลางค่อนข้างแข็ง มีความฝาด
จะเหมาะนำไปทำกล้วยเชื่อม หรือทำไส้ข้าวต้มมัด เพราะไส้กล้วยมีความแข็ง ไม่เละ
กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดงนั้น ไม่เหมาะที่จะนำไปทำกล้วยตาก
เพราะกล้วยตากที่มีสีคล้ำดำ สีไม่สวย ดูเหมือนกล้วยตากเก่า
ในกรณีดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นกับผู้ปลูกหลายรายที่ส่งกล้วยน้ำว้าไส้แดงขายกับผู้ผลิตกล้วยตาก
พบว่ากล้วยตากที่ได้มีสีคล้ำดำ หรือถ้าเอาไปทำกล้วยบวชชีก็ไม่สู้อร่อยนัก เพราะมีรสฝาด
ในการเลือกปลูกกล้วยน้ำว้านั้นหลายท่านก็ต้องพิจารณาตลาดที่จะรับซื้อเป็นอย่างไร
ขายให้กับใคร แล้วเขาเอาไปทำอะไร
กล้วยน้ำว้านวลจันทร์
กล้วยดีที่เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ที่แผนกฟาร์ม
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้หน่อกล้วยน้ำว้านวลจันทร์ บางคนเรียกกล้วยน้ำว้าเงิน
หรือกล้วยน้ำว้าหนัง เริ่มแรกนำมาปลูกแซมเพื่อเป็นร่มเงาให้ไม้ประธาน
เมื่อออกเครือปรากฏว่า ลักษณะของผลขนาดใหญ่ ใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้าชนิดอื่น
ผลป้อม ทรงกระบอก ปลายค่อนข้างแหลม ผลดิบมีสีเขียวขาวนวล
ผิวผลมีสีขาวกว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่น ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองนวล
เนื้อผลสีขาวอมชมพู รสชาติหวานจัด เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร
ได้นำกล้วยน้ำว้านวลจันทร์มาแปรรูปเป็นกล้วยอบลมร้อน มีรสชาติอร่อยมาก
กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และรสชาติอร่อยมาก
การปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้านั้นสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
แต่ต้องมีน้ำให้ไม่ขาดแคลน แต่ในบางพื้นที่ที่แหล่งน้ำไม่สมบูรณ์
ก็จะเลือกที่จะปลูกกล้วยในช่วงต้นฤดูฝน ราวปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม
เพื่อลดภาระในการให้น้ำ และที่สำคัญต้นกล้วยจะตั้งตัวได้เร็ว โดยหลังจากปลูกได้เพียง
1 เดือน ต้นกล้วยก็จะมียอดใหม่โผล่เหนือพื้นดิน
ส่วนขยายพันธุ์ของกล้วยสามารถใช้ได้หลายแบบ เช่น “หน่อกล้วย” ที่ใช้ได้ทั้งหน่ออ่อน คือ
เป็นหน่อขนาดเล็ก เพิ่งแทงออกมาจากต้นแม่ ยังไม่มีใบให้เห็น
หน่อใบแคบเป็นหน่อที่พอจะมีใบบ้าง แต่ใบจะมีลักษณะเรียวเล็ก
ชาวสวนมักเรียกหน่อชนิดดังกล่าวว่า “หน่อดาบ” หน่อใบกว้าง เป็นหน่อที่มีใบโตกว้าง คล้ายกับใบจริง ส่วนของ “เหง้า” เป็นเหง้าหน่อกล้วยที่ต้นโตแล้ว
แต่ยังไม่ตกผล เมื่อปลูกเราจะตัดยอดหรือลำต้นออก ส่วนของ “ตา”
เหง้าหรือหน่อที่ตกผลแล้วหรือยังไม่ตกผล ถ้ามีขนาดใหญ่พอจะมีตาอยู่หลายตา
ซึ่งเราสามารถตัดเหง้าของหน่อ แล้วใช้มีดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ
เอาไปปลูกในแปลงหรือชำลงกระบะหรือในถุงดำที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ
ไม่นานตาเหล่านั้นจะกลายเป็นต้นกล้วยขนาดเล็กให้เราได้แยกปลูกลงแปลงต่อไป
แต่วิธีดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะขั้นตอนยุ่งยากเหมาะกับการขยายพันธุ์กล้วยที่มีจำนวนน้อย
หรือมีราคาแพง
การขุดแยกหน่อจากต้นแม่นั้น ต้องควรทำด้วยความระมัดระวัง
อย่าให้หน่อช้ำมากนัก ควรใช้เสียมที่มีความคมแทงให้ขาด เพียง 1-2
ครั้ง เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ใช้มีดปาดเอาส่วนของรากออกให้หมด
เมื่อเวลาเรานำไปปลูกกล้วยจะสร้างรากใหม่ขึ้นมา
ส่วนหน่อที่มีใบมากจนเกินไปก็ให้ลิดตัดใบออกบ้าง
หรือหน่อมีความสูงหรือมีขนาดใหญ่จนเกินไปก็ให้ตัดเฉือนลำต้นให้สั้นลง
แต่ถ้าเป็นไปได้การตัดทอนยอดหรือต้นกล้วยควรตัดก่อนที่จะแยกออกจากต้นแม่
ซึ่งการตัดยอดหรือลำต้นของกล้วยไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน
กลับทำให้ลำของหน่อกล้วยมีโคนที่ใหญ่อวบอ้วนขึ้น
เนื่องจากอาหารจากเหง้าไม่ต้องเลี้ยงยอดและใบ
อาหารจึงไปสะสมและสร้างโคนให้ใหญ่ขึ้นนั่นเอง
โดยหน่อที่แยกไปจากต้นแม่สามารถนำไปปลูกได้ทันที
หรือถ้ายังไม่พร้อมก็สามารถเก็บรักษาไว้ในที่ร่มได้ก่อนนานนับสัปดาห์
การปลูก ในพื้นที่รกควรดายหญ้า หรือไถพรวนเสียก่อน ก่อนการปลูก 7-10
วัน เพื่อปราบวัชพืชและทำให้ดินร่วนโปร่ง
สำหรับพื้นที่น้ำท่วมจำเป็นต้องยกร่องเสียก่อน ระยะปลูกกล้วยนั้นมีความสำคัญมาก
ถ้าปลูกชิดกันมากเกินไปก็จะทำให้เกิดร่มเงา ทำให้หน่อที่งอกขึ้นมาใหม่จะไม่ค่อยแข็งแรง
ลำต้นเรียวเล็ก เพราะได้รับแสงไม่เพียงพอนั่นเอง
ฉะนั้นการเลือกระยะปลูกต้องคำนึงถึงแสงแดด
ความสมบูรณ์ของดินและชนิดของพันธุ์กล้วยประกอบกันสำหรับการปลูกกล้วยบนพื้นที่ราบ
หลังจากกำจัดวัชพืชขุดดินหรือไถพรวนเรียบร้อยแล้ว ตากดินราว 7-10 วัน ก็จะขุดหลุมขนาด 50x50 เซนติเมตร กองดินชั้นบน
(หน้าดิน) ไว้ด้านหนึ่ง ส่วนดินชั้นล่างก็จะกองไปอีกด้านหนึ่งของหลุม
จากนั้นให้ใส่ดินชั้นบนลงก้นหลุมพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปด้วยเพื่อเป็นปุ๋ยรองก้นหลุม
คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำหน่อกล้วยที่เตรียมไว้ วางหน่อกล้วยลงกลางหลุม
ถ้าต้องการให้กล้วยออกปลีในทิศทางเดียวกันทุกหลุม โดยกล้วยจะแทงปลีออกมาในทิศทางตรงกันข้ามกับรอยแผลนั่นเอง เมื่อวางหน่อเรียบร้อยก็จะนำดินส่วนที่เหลือกลบหลุมให้แน่น ถ้าเป็นการปลูกกล้วยในช่วงฤดูฝนก็ควรพูนดินให้สูง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูอื่นก็ไม่จำเป็นต้องพูนดินสูง เพราะเวลาให้น้ำ น้ำที่ให้จะได้ไม่ไหลออกไป ส่วนการปลูกกล้วยแบบยกร่อง มักจะพบเห็นในพื้นที่ในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะกล้วยหอมที่มักจะนิยมปลูกกล้วยริมสันร่องทั้ง 2 ข้าง โดยตรงกลางจะเว้นเป็นทางเดิน โดยจะใช้ระยะปลูกถี่เพียง 3 เมตร เพราะเกษตรกรมักจะปลูกกล้วยใหม่ทุกปี และการวางหน่อปลูกก็จะนิยมหันรอยแผลที่เกิดจากการแยกหน่อไปทางร่องน้ำ เพื่อให้กล้วยตกเครือมาในทิศทางร่องทางเดิน เพื่อจะสะดวกในการเก็บเกี่ยวนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น